ประวัติความเป็นมาสภาคณาจารย์และพนักงาน มหาวิทยาลัยศิลปากร

สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่อง จากการประชุมของสภามหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 4/2517 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2517 ที่มีมติให้ตราข้อบังคับมหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าด้วยสภาคณาจารย์ พ.ศ. 2517 ออกตามความในมาตรา 15(1) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2511 โดยข้อบังคับนี้ ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2517 กระทั่งในปี พ.ศ. 2530 สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับการตราไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2530 “มาตรา 24 ให้มีสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย กรรมการซึ่งคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยเลือกตั้งขึ้นจากคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำแก่อธิการบดี และหน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีมอบหมาย โดยองค์ประกอบจำนวนกรรมการ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง และการดำเนินงานของสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย”

สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีบทบาทสำคัญและมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในทุกด้าน โดยการเสนอแนะและให้ความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ ปราศจากผลประโยชน์ใด ๆ เป็นองค์กรที่สะท้อนความคิดเห็นของบุคลากรที่เป็นประโยชน์ในการบริหารหรือวางแผนการดำเนินการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย อีกทั้ง สภาคณาจารย์ยังมีลักษณะเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย กล่าวคือ มีเสรีภาพทางวิชาการและมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคลากร เปิดโอกาสให้บุคลากรทั้งหลายมีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารและจัดการกิจการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

ในปี พ.ศ. 2557 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. …. เพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
ซึ่งได้ดำเนินการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ประชุมตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 และพิจารณาเรื่องเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 จากนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. …. เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2559 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. …. ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา

สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีบทบาทสำคัญและมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในทุกด้าน โดยการเสนอแนะและให้ความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ ปราศจากผลประโยชน์ใดๆ เป็นองค์กรที่สะท้อนความคิดเห็นของบุคลากรที่เป็นประโยชน์ในการบริหารหรือวางแผนการดำเนินการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย อีกทั้ง สภาคณาจารย์ยังมีลักษณะเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย กล่าวคือ มีเสรีภาพทางวิชาการและมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคลากร เปิดโอกาสให้บุคลากรทั้งหลายมีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารและจัดการกิจการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ประชุมครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559
โดยที่ประชุมได้เรียนเชิญ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธาน จนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 24/2559 วันที่ 21 เมษายน 2559 ลงมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. …. จนกระทั่ง ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2559 ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นมา สภาคณาจารย์ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น “สภาคณาจารย์และพนักงาน” ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้